top of page

หน้าที่ของต่อมน้ำลาย

ต่อมน้ำลาย น้ำลายสร้างจากต่อมน้ำลาย 3 คู่ ซึ่งอยู่ในบริเวณปาก แล้วขับเข้าไปในปากทางท่อน้ำลาย น้ำลายที่สร้างขึ้นแบ่งตามลักษณะได้ 2 ชนิด คือ ชนิดใส (serous) และ ชนิดเหนียว (mucous) ต่อมน้ำลายทั้ง 3 คู่คือ

คู่ที่ 1 อยู่ข้างกกหู เรียก Parotid glands เป็นต่อมน้ำลายที่ใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่ข้างหน้าและข้างใต้หู หรือที่โคนขากรรไกร มีท่อเรียกว่า Parotid duct ทอดมาข้างหน้ามาเปิดเข้าสู่ปากที่บริเวณกระพุงแกม ถ้าต่อมนี้อักเสบ บริเวณข้างกกหูจะบวมแดงและเจ็บ เรียกว่าโรคคางทูม (Mump หรือ Acute epidemic parotitis) Parotid glands สร้างน้ำลายชนิดใสเพียงอย่างเดียว

คู่ที่ 2 อยู่ที่คางหรือใต้ขากรรไกร เรียก Submaxillry glands ตั้งอยู่ใต้ขากรรไกรล่างเยื้องไปข้างหลังใกล้กับ Ramus ของขากรรไกรล่าง มีท่อ Wharton’s duct ไปเปิดเข้าในพื้นของปากใต้ลิ้น ต่อมน้ำลายคู่นี้สร้างน้ำลายทั้งชนิดเหนียวและชนิดใส แต่มีชนิดใสมากกว่าชนิดเหนียว

คู่ที่ 3 อยู่ใต้ลิ้น เรียก Sublingual glands มีท่อ Rivinuss’ duct ไปเปิดเข้าในพื้นของปากใต้ลิ้น ใกล้ๆ กับท่อของ Submaxillary glands ต่อมคู่นี้สร้างน้ำลายชนิดผสมกัน แต่มีชนิดเหนียวมากกว่าชนิดใส

ต่อมที่สร้างน้ำลายชนิดใสมักสร้างน้ำย่อย (enzyme) ด้วย ได้แก่ ไทอะลิน (ptyalin) หรือที่เรียกว่า Salivary amylase ส่วนต่อมที่สร้างน้ำลายชนิดเหนียวมักไม่สร้างน้ำย่อย แต่สร้างเมือก (Mucin) ออกมาซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะเมือกนี้จะไปเคลือบอาหารทำให้เป็นก้อนลื่น สะดวกแก่การกลืน นอกจากนี้มันยังถูกกลืนลงไปเคลือบผนังของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ทำให้น้ำย่อยไม่สามารถไปย่อยผนังกระเพาะอาหารและลำไล้เล็กได้ ปรกติน้ำลายมีฤทธิ์เป็นด่าง จึงทำให้แคลเซี่ยมในฟันไม่ถูกละลาย ด้วยแคลเซี่ยมละลายในสารละลายที่เป็นกรด

น้ำลายเริ่มออกสู่ช่องปากตั้งแต่เราเริ่มคิดถึงอาหาร พูดถึงอาหาร ได้กลิ่น ได้เห็น ได้แตะต้องอาหาร โดยเฉพาะการพูดถึงอาหารที่มีรสเปรี้ยว นํ้าลายก็ยิ่งออกมาก ครั้นอาหารเข้าสู่ปาก เราได้รับรสด้วย ปุ่มรับรส (taste bud) ที่ลิ้นก็ยิ่งจะทำให้น้ำลายออกมากขึ้น คนเราหลั่งน้ำลายออกมาประมาณวันละ 1 ถึง 1.5 ลิตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารที่กิน ที่จริงน้ำลายไม่ใช่ได้มาจากต่อมน้ำลายเพียงแหล่งเดียว แต่ได้จากต่อมเล็กๆ อื่นๆ ของปากด้วย นั่นคือต่อมน้ำลายขับ Secretion ออกมาปนกับ Secretion ของต่อมเล็กๆ อื่นๆ ของปาก แล้วรวมกันเรียกว่า น้ำลาย (Saliva)

bottom of page